คลินิกไก่ชน "ขี้ต๊อก"

คลินิกไก่ชน

ดำเนินเรื่องโดย หมอไก่


    ขี้ต๊อก ไก่ถ่ายไม่ออก โรคกวนใจของคนเลี้ยงไก่ชน ไม่รักษาอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

     ในวงการไก่ชน หนึ่งในอาการที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้เพาะเลี้ยงมากที่สุด อีกอย่างหนึ่งก็คืออาการ “ขี้ต๊อก” หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า “ไก่ถ่ายไม่ออก” ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นอาการเล็กน้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามไปสู่ภาวะลำไส้อุดตันหรือติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการชน น้ำหนัก และสุขภาพโดยรวมของไก่ได้
    ลักษณะอาการของโรค
ไก่ที่มีภาวะ "ขี้ต๊อก" หรือ "ถ่ายไม่ออก" มักจะแสดงอาการดังนี้ เบ่งถ่ายบ่อย แต่ไม่มีอุจจาระออกมา หรือออกมาเพียงเล็กน้อยและเหนียวติดก้น อาการเบื่ออาหาร ซึม ไม่ร่าเริง ตูดพอง ท้องแข็ง คลำแล้วรู้สึกแน่นหรือมีเสียงน้ำในท้อง บางรายจะยืนแยกตัว ไม่เก็บขา ขนยุ่งเหยิง
อาจมีการเปลี่ยนแปลงของอุจจาระ เช่น ขี้ขาว ขี้เขียว หรือมีฟอง บางตัวมีอาการเหมือนคนเบ่งอุจจาระ
    สาเหตุของโรค
อาการขี้ต๊อกในไก่ชนเกิดได้จากหลายสาเหตุ 
    1. อาหารไม่ย่อยหรืออาหารไม่เหมาะสมให้รำหรืออาหารโปรตีนสูงเกินไปโดยไม่มีใยอาหารพอเพียง อาหารเก่าหรือบูด การกินวัตถุแปลกปลอม เช่น หญ้าแห้ง ฝุ่น ดิน แข็งๆ
    2. ขาดน้ำหรือดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแข็งจนถ่ายไม่ออก 
    3. ติดเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวในลำไส้ ซึ่งจะทำให้ลำไส้อักเสบและระบบขับถ่ายผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นข้อนี้จะส่งผลเรื่องของสุขภาพของไก่อย่างรวดเร็ว
    4. พยาธิภายในลำไส้ โดยเฉพาะพยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิปากขอ ท่าละเลยการถ่ายพยาธิข้อนี้อาจเป็นสาเหตุหลัก
    5. อุณหภูมิแวดล้อมเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
เช่น อากาศเย็นจัด หรือฝนตกหนัก ทำให้ระบบย่อยทำงานช้าลง
    6. ความเครียด เช่น การย้ายเล้า การปล้ำชนหนัก การเปลี่ยนอาหารกะทันหัน ตื่นกลัวเมื่อมีเสียงดังอึกทึก
     แนวทางการรักษา
เมื่อพบว่าไก่เริ่มมีอาการขี้ต๊อก ให้ดำเนินการดังนี้
     1. เบื้องต้นให้น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งหรือเกลือแร่  เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย ใช้น้ำมันพืช (เช่น น้ำมันรำข้าวหรือน้ำมันละหุ่ง) หยดทางปากประมาณ 1–3 ซีซี ทำการนวดท้องเบาๆ เป็นวงกลม ช่วยกระตุ้นลำไส้
     2. ถ้ามีภาวะติดเชื้อหรือพยาธิให้ยาปฏิชีวนะ  หรือยาแก้อักเสบกลุ่ม ซัลฟา ถ่ายพยาธิด้วยยา สำหรับพยาธิชนิดนั้น(ควรทำเมื่อแน่ใจว่าไม่มีภาวะอุดตันรุนแรง)
     3. การช่วยเหลือภายนอก หากขี้ติดรูทวาร ให้ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำมันนวดคลึงและเช็ดเบาๆ
บางรายที่ถ่ายแข็งติดแน่น อาจต้องใช้น้ำเกลือสวน ใช้ลวด ค่อยๆแหย่เข้าไปในทวารแล้วเกี่ยวอุจจาระที่แข็งค่อยๆเอาออกมา
     ...วิธีป้องกัน
การป้องกันไก่ถ่ายไม่ออกสามารถทำได้ง่ายหากมีระบบการจัดการที่ดี
     1. จัดอาหารให้เหมาะสม ควรมีใยอาหารจากผักเขียว เช่น ผักบุ้ง ตำลึง หรือกากมะพร้าวอ่อน
หลีกเลี่ยงอาหารเก่าหรือหมักหมมให้กินกรวดเล็กๆ หรือเปลือกหอยป่นเพื่อช่วยในการบดอาหาร ในช่วงที่กำลังพักฟื้น
     2. จัดการน้ำดื่มให้เพียงพอและสะอาด เติมเกลือแร่หรือน้ำผึ้งอาทิตย์ละ 1–2 ครั้ง
     3. ควบคุมพยาธิและจุลชีพในฟาร์ม ถ่ายพยาธิทุก 2–3 เดือนใช้ EM หรือน้ำหมักชีวภาพผสมในอาหารหรือน้ำ
     4. ควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม ป้องกันลมโกรกและความชื้นที่มากเกินไปในโรงเรือน เลี่ยงการเปลี่ยนอาหารหรือสภาพแวดล้อมแบบฉับพลัน
       อาการไก่ขี้ต๊อกหรือถ่ายไม่ออกแม้จะดูเล็กน้อย แต่หากไม่รีบรักษาหรือจัดการให้ดี อาจทำให้ไก่อ่อนแรงและสูญเสียคุณค่าในการชนหรือเพาะพันธุ์ การเข้าใจสาเหตุ การรักษาที่ถูกต้อง และการป้องกันอย่างเป็นระบบ คือหัวใจสำคัญที่ผู้เพาะเลี้ยงไก่ชนทุกคนควรใส่ใจ เพื่อรักษาสุขภาพและศักยภาพของไก่ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ